Accessibility Tools

กระทรวง อว.ให้งบจ้างงาน 5 เดือน ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 110 อัตราไม่จำกัดวุฒิ เน้นประชาชนพื้นที่ราชบุรีพัฒนาท้องถิ่น

                    วันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เปิดเผยถึงการจ้างงานผู้ได้รับกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นโยบายของกระทรวง คือทำอย่างไรจะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ขณะนี้รัฐบาลช่วยไปหลายส่วนแล้ว เช่น ช่วยเหลือคนตกงานให้เงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ต่อไปเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ทางกระทรวงอุดมศึกษาฯเห็นว่าน่าจะมีส่วนช่วยเรื่องการจ้างผู้ว่างงาน จะเป็นคนละกลุ่มกับคนตกงานที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือจบแล้วยังไม่มีงานทำ โดยให้มหาวิทยาลัยฯได้ยื่นข้อเสนอไปที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม หรือ กระทรวง อว. มีหลักการ 2 ข้อ คือ งานนั้นควรเป็นงานถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยลงไปสู่ชุมชน และต้องเกิดประโยชน์แก่ชุมชน โดยใช้คนในพื้นที่เป็นคนทำงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้ส่งข้อเสนอไปที่กระทรวงฯว่ามีความประสงค์ต้องการพัฒนาท้องถิ่น ใช้คนมาช่วยการทำงาน มีการเขียนข้อเสนอไปที่กระทรวงฯ จะจ้างคนในราชบุรีทุกตำบล ขณะนี้อยู่ระหว่างให้แต่ละคณะของมหาวิทยาลัยฯเขียนข้อเสนอเข้ามาที่ฝ่ายการศึกษาการงานทำ โดยมี ผศ.รพีพรรณ กองตูม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ภายในสัปดาห์หน้า จะประกาศรับสมัครงานผู้ที่สนใจ เช่น คณะมนุษย์ศาสตร์จะมีโครงการพัฒนาด้านท้องถิ่นอยากได้ข้อมูล แต่ละตำบลว่ามีความจำเป็นอะไรบ้างที่ต้องพัฒนา จำเป็นต้องมีคนไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เป็นต้น โดยกระทรวงฯให้จ้างเป็นระยะเวลา 5 เดือนไปสิ้นสุดในเดือนกันยายน มีค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท โดยกระทรวงฯจะโอนงบประมาณให้มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทำข้อเสนอไปทั้งหมด 110 อัตรา ไม่กำหนดว่าจะต้องจบระดับอะไรบ้าง งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี หรือระดับอนุปริญญา เช่น จบ ม.ปลาย ปวช. ปวส. ก็ทำงานได้ จะมีสังกัดกระทรวง อว. ได้รับมอบหมายทำหน้าที่นี้ทั้งหมด เป็นมหาวิทยาลัยฯ 39 แห่ง อีก 3 แห่ง เป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวง อว. ในภูมิภาคตะวันตกมีเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงแห่งเดียว ที่จะเป็นหน่วยจ้างงาน ส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น ม.ขอนแก่นรับกว่า 1,000 อัตรา แต่ไม่ใช่เฉพาะของ จ.ขอนแก่น แต่จะครอบคลุมจังหวัดทางภาคอีสานหลายจังหวัด


                    คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะประกาศรับสมัครได้ โดยจะเริ่มจ้างงานอย่างช้าที่สุดจะไม่เกินวันที่ 15 พฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน เป็นโครงการแรกที่เน้นประชาชน ส่วนโครงการที่ 2 เป็นตำแหน่งงานเน้นบัณฑิตจบใหม่ หรือจบไม่เกิน 1 ปี ที่สถานการณ์โควิดมีการคาดการณ์ว่าจะมีบัณฑิตจบใหม่เยอะ ทางกระทรวงจึงมีโครงการบัณฑิตอาสา เป็นโครงการจ้างเป็นปี และมีเงินเดือนตามวุฒิประมาณ 15,000 บาท โครงการนี้จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม ปีนี้ ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่ และยังมีโครงการยุวชนสร้างชาติ เป็นโครงการที่จะเน้นเด็กกำลังเรียนอยู่ตั้งแต่ปี 1 -4 ลักษณะให้เด็กไปฝึกประสบการณ์ระยะเวลา 1 ภาคเรียนซึ่งต้องดูสถานการณ์หน้าว่าสามารถจัดส่งเด็กไปจำนวนประมาณกว่า 10 คน ต่างคณะไปอยู่ในชุมชนเพื่อช่วยชาวบ้านพัฒนาไปเชื่อมโยงกับโครงการที่จะเยียวยาเกษตรกรและประชาชน ซึ่งโครงการเศรษฐกิจฐานรากจะมีตั้งแต่โครงการการขุดคลอง ทำถนน หรือสร้างงานสร้างอาชีพ จะส่งเด็กเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ผู้ช่วย ส่งครูอาจารย์ไปเป็นที่ปรึกษา จะเป็นปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2563 จะเป็นปีงบประมาณปี 2564
                    สำหรับหลักการจ้างงานประชาชน คือ บัณฑิต หรือประชาชนที่เข้ามาอยู่ในโครงการนี้ จะได้รับการพัฒนาทักษะการทำงานไปด้วย จะมีผู้เชี่ยวชาญหรืออาจารย์เป็นเทรนเนอร์ให้คำปรึกษาก่อนที่จะไปทำงาน ระหว่างทำงาน และหลังทำงานเรียบร้อยแล้วจะมีการทำโครงการเสนอไปที่กระทรวง อว. เพื่อให้ทราบถึงโครงการมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ถ้าดีก็อาจจะมีโครงการจ้างงานประชาชนต่อ เป็นโครงการที่กระทรวงการอุดมศึกษาได้ทำเรื่องนี้และมหาวิทยาลัยฯได้มีส่วนร่วมการเข้าไปเป็นผู้จ้างงาน ถือเป็นการเปิดกว้างของทุกคณะในมหาวิทยาลัย หากมีการสมัครเข้ามาจำนวนมากจำเป็นต้องคัดเลือก อาจจะมีสำรองไว้เผื่อโครงการ คาดว่าต้องมีอีกแน่นอน เนื่องจากเงินกู้ 1ล้านล้านบาท เงิน 5 แสนล้านบาทที่จะลงชุมชน 1 ในนั้น คือการจ้างงาน ในส่วนที่มหาวิทยาลัยเข้าไปมีประสบการณ์เรื่องดังกล่าว หลังจากนี้ไปคงจะได้เชื่อมต่อจากโครงการต่อไปอีก
                    สำหรับโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 จะต้องเป็นประชาชนในพื้นที่ราชบุรีที่ได้รับผลกระทบ สนใจการพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ๆ มีขอบเขตลักษณะจ้างงานในหน้าที่ติดต่อประสานงานกับประชาชน อธิบายขั้นตอนการสำรวจและจัดทำข้อมูลด้าน Smart Farming ในชุมชนเกษตรปลอดภัยในชุมชน การจัดการขยะชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน โรคติดต่อชุมชน และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รวมถึงการชี้แจงรายละเอียด ถ่ายทอด เผยแพร่ และรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องและมีความจำเป็น ทั้งความต้องการ ปัญหาและอุปสรรค เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆส่วนงานด้านวิเคราะห์และทำแผน จะมีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลและกำหนดแผนดำเนินงานร่วมกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆของกระทรวงด้าน Smart Farming ในชุมชนเกษตรปลอดภัยในชุมชน การจัดการขยะชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน โรคติดต่อชุมชน และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ งานด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี มีหน้าที่นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ด้าน Smart Farming ในชุมชนเกษตรปลอดภัย การจัดการขยะชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน โรคติดต่อชุมชน คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ถ่ายทอด หรือฝึกอบรมในชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญของท้องถิ่น

ที่มา : พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี

 

 

  ที่มา : งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร