Accessibility Tools

มรภ.หมู่บ้านจอมบึงจับมือชุมชนคุ้งพยอม Kick off เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ชูแบรนด์ละมุด 100 ปียกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงานสร้างอาชีพหลังโควิด 19

                  โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) U2Tมหาวิทยาลัยสู่ตำบลคุ้งพยอม และแบรนด์ละมุด 100 ปี Kick off เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ศูนย์การเรียนรู้วัดโพธิ์บัลลังค์ ตำบลคุ้งพยอม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยอาจารย์ดร.ทัศนีย์ นาคเสนีย์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ผศ.สัจจา ไกรศรรัตน์ รองคณบดีคณะวิทยาการจัดการ พร้อมด้วยดร.นภสร โศรกศรี วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี นางศิริจินต์ ดำรงคดีราษฎร์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งพะยอม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม ซึ่งมีพระอาจารย์คำนึง จิรวฑฒโน ประธานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนวิถีชาติพันธุ์บ้านคุ้งพยอมเป็นผู้ประสานงานจัดกิจกรรมร่วมขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ ทั้งนี้ยังมีชาวบ้านในท้องถิ่นได้นำอาหารพื้นถิ่นและผลิตภัณฑ์ของดีในชุมชนมาร่วมจัดแสดง อาทิ เครื่องจักสานไม้ไผ่ ข้าวแกงโบราณ เช่น แกงส้มลูกซ่านใส่ดอกงิ้ว ไอศรีมละมุด สมูทตี้ละมุด ผัดหมี่โบราณ ข้าวโพดคลุกมะพร้าว ทอดมันข้าวโพด เป็นการพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน
                  ผศ.สัจจา ไกรศรรัตน์ กล่าวว่าผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการพื้นที่ตำบลคุ้งพะยอมและตำบลนครชุมภ์ได้กล่าวถึงโครงการU2T ยูนิเวอร์ซิตี้ ทู ตำบลสร้างรากแก้วของประเทศไทย เป็นโครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งตำบลคุ้งพะยอมเป็น 1 ในจำนวน 35 ตำบลของจังหวัดราชบุรี ที่มีการจ้างานกลุ่มประชานทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด 19 ซึ่งทำอย่างไรที่จะจ้างแรงงานบัณฑิตที่จบใหม่ตั้งแต่ปี 61 ขึ้นไป ซึ่งมาเจอสถานการณ์โควิดพอดีทำให้ตกงาน จึงให้คิดกระบวนการจ้างงาน ส่วนชาวบ้านในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิดนั้น จะช่วยสร้างรายได้อย่างไร ส่วนนักศึกษาที่ครอบครัวมีปัญหามีผลกระทบจากโควิด จะมีโครงการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับครอบครัว โดยการจ้างงานนักศึกษาอย่างไร ถือเป็นโจทก์ที่ต้องคิด นอกจากนี้ยังให้ทางมหาวิทยาลัยคิดโครงการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น บนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ ทางมหาวิทยาลัยฯจึงมุ่งตรงมาหาพื้นที่ตำบลคุ้งพยอม ทำให้เกิดมาเป็นโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อจะพัฒนาเศรษฐกิจผ่านทรัพยากรท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงที่เรียกว่า “ละมุดร้อยปี” ที่นี่เป็นแหล่งปลูกละมุดที่ใหญ่ที่สุดของราชบุรี ที่สำคัญยังเป็นละมุดที่มีอายุมากกว่าร้อยปี คือ ปลูกตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ไม่ใช้สารเคมี จึงต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้โดยทำเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวออกมาเป็นตัวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว
                 
นายสะอาด ปราดเปรียว ประชาชนในตำบลคุ้งพะยอม กล่าวว่า ละมุดที่นี่มีการปลูกกันมา อายุไม่ต่ากว่าร้อยปีมาแล้ว เลยทำให้พื้นที่นี้โด่งดังไปทั่วประเทศ มีคนสนใจเข้ามาเที่ยวชิมละมุดสดพร้อมนำไปต่อยอดเป็นต้นละมุด และจะพัฒนาให้ชาวบ้านที่สนใจนำต้นละมุดไปปลูกกันมากขึ้นเป็นผลไม้ที่มีเนื้อแข็งหวานกรอบ เวลาฝนตกโดนผลก็ไม่ช้ำ ช่วงที่ผ่านมาพยายามนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มละมุด แต่ติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติต่างๆ เลยคิดว่าจะมาทำลักษณะเป็นขนมเบรก เลยนึกถึงไอศรีม เพราะคนทุกเพศทุกวัยยังชอบไอศรีมอยู่ สามารทำได้ทั้งกะทิ และนม พัฒนามาจนเอาตัวละมุด 50 เปอร์เซ็นต์แล้วใส่เครื่องผสมที่เป็นไอศรีมอีก 50 เปอร์เซ็นต์ จะออกมาตามที่เราต้อง ตอนนี้ได้ทำละมุดนำมาบดเพื่อให้ได้เนื้อหยาบ ต่อไปก็จะแยกกาก และนำน้ำละมุดมาทำเครื่องดื่มละมุด โดยใช้วิธีการฆ่าเชื้อด้วยแรงดัน โดยน้ำละมุดจะเก็บไว้ได้ในการแปรรูป ซึ่งก็จะมีการต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆต่อไป
                  นางสาวรัตนาพร พยอมหอม หนึ่งในบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนที่ได้ร่วมโครงการ กล่าวว่า มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล เป็นประเภทของบัณฑิตที่จบใหม่ โดยนำข้อมูลที่ได้จากประชาชนมาวิเคราะห์จะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อยกระดับชุมชน อย่างของพื้นที่ ตำบลคุ้งพยอมจะมีละมุดทำอย่างไรที่จะให้มีการต่อยอด เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยหลังจากที่ได้ลงพื้นที่ได้ข้อมูลมา อย่างโครงการนี้ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และได้ประสานงานกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เพื่อไปต่อยอดในการนำละมุดไปเป็นละมุดอบแห้ง นำไปทำไวน์ และยังมีด้านท่องเที่ยวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชน จะทำให้ละมุดคุ้งพยอมเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและสร้างจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร

ภาพข่าว : วัฒนา อ่วมเนตร | เขียนข่าว : วัฒนา อ่วมเนตร

  ที่มา : งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร