องคมนตรีตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ติดตามการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏและวิศวกรสังคม ฯ
- หมวด: ข่าวกิจกรรมมหาวิทยาลัย
- เผยแพร่เมื่อ: วันจันทร์, 01 มีนาคม 2564 09:21
- ฮิต: 1101
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรีเดินทางมาตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและโครงการวิศวกรสังคม โดยมีนายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณฐพรภัทร์ อินทร์ศิริพงษ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงและคณะผู้บริหารให้การต้อนรับพร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ณ ห้องประชุมสุพจน์ มิเถาวัลย์ ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ซึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้น้อมนำ พระบรมราโชบายมาสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้ดำเนินโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2563 ใน 4 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์การผลิตครูและพัฒนาครู ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการศึกษา และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ สำหรับการดำเนินงานโครงการยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่นได้เชื่อมโยงด้านเศษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา รวมถึงการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2564 และโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อพัฒนาพื้นที่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในประเด็นต่างๆตามปัญหาและความต้องการของชุมชนเขตพื้นที่ 35 ตำบล ในจังหวัดราชบุรี
ในการนี้องคมนตรีได้รับฟังการนำเสนอโครงการวิศวกรสังคมของทีมนักศึกษาพร้อมแลกเปลี่ยนประเด็นการทำงานโดยใช้กระบวนการวิศวกรสังคมลงพื้นที่พัฒนาฟื้นฟูตลาดโอ๊ะป่อย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีมีการพูดคุยปรึกษาผู้นำชุมชนเพื่อให้ข้อเสนอแนะและวางแผนการพัฒนาต่อไปและลงพื้นที่บ้านห้วยน้ำขาว อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรีเพื่อ ศึกษาข้อมูลจากชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยการสร้างฝายมีชีวิตเพื่อการบริหารจัดการน้ำในชุมชนให้ยั่งยืน ในการทำงานกลุ่มนักศึกษาได้บูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ข้ามคณะด้วยจิตอาสาโดยมีคณาจารย์เป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งนอกจากชุมชนจะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว ยังเป็นการสร้างเยาวชนราชภัฏให้เป็น “วิศวกรสังคม” นั่นคือ ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น มีความภาคภูมิใจที่ได้รับผิดชอบต่อท้องถิ่นของตนเอง รู้จักปฏิบัติงานพัฒนาสังคมท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ เชิงเหตุและผล เห็นปัญหาเป็นสิ่งท้าทาย ทักษะในการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหา ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง พร้อมระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม และทักษะการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมด้วยความเข้าใจและเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง