Accessibility Tools

กสศ.ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ติดตามโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1

                    กสศ.ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ติดตามโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง สถานศึกษาทำงานเชิงรุก สร้างหลักสูตรแนวข้างเสริมจิตวิญญาณความเป็นครู ผลิตครูนักพัฒนารุ่นใหม่ส่งคืนบ้านเกิด โมเดลต้นแบบการผลิตครูตามความต้องการของพื้นที่อย่างยั่งยืน

                    เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ผศ.ดร.ชัยฤทธิ ศิลาเดช รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงพร้อมคณะผู้บริหาร อาจารย์และนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่1ให้การต้อนรับรศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธาอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และคณะสื่อมวลชนในการลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามความคืบหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการครูรัก(ษ์)ถิ่น,โรงเรียนอนุบาลทานตะวัน แหล่งฝึกประสบการณ์นักศึกษาครูปฐมวัย,และ“บ้านไร่รัก(ษ์)ถิ่น” แหล่งพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และกิจกรรมเสริมทักษะการเรียนรู้บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น
                    รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กสศ. กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยประสบปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลขาดแคลนครูจำนวนมาก เพราะครูที่บรรจุจากส่วนกลางขอย้ายออกเมื่อครบกำหนด การเรียนการสอนจึงขาดความต่อเนื่อง ส่วนโรงเรียนลักษณะพิเศษก็ไม่สามารถยุบหรือควบรวมได้ ทำให้เด็กบางคนขาดโอกาสทางการศึกษา จนเกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ 2 ด้าน คือ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ปัจจุบันแก้ไขแล้วระดับหนึ่ง โดยการสนับสนุนให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษา ส่วนความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพ เป็นเป้าหมายที่ กสศ. กำลังเดินหน้าแก้ไข โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะช่วยผลักดันและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท โดยการให้ทุนเรียนครูกับเด็กในพื้นที่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อจบการศึกษาจะได้บรรจุเป็นครูในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างครูคุณภาพให้เข้าไปจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ลูกหลานในชุมชนบ้านเกิด
                    ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีคณะคุรุศาสตร์เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล โดยมีมหาวิทยาลัยคอยสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการ รวมถึงงบประมาณในการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะของนักศึกษา ส่วนการคัดกรองนักศึกษาเข้าโครงการจะใช้เกณฑ์ของ กสศ. ด้านความยากจน มีรายได้เฉลี่ยต่อคนในครอบครัวไม่เกิน3,000 บาทต่อเดือน และเกณฑ์มาตรฐานกลางของมหาวิทยาลัย เช่น การวัดแววความเป็นครู การวัดความสนใจที่จะประกอบอาชีพครูในอนาคต เด็กต้องมีเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพครู รวมถึงทดสอบความรู้ ความสามารถวิชาพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเป็นครู เด็กที่ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ60ต้องเข้าค่ายสังเกตพฤติกรรม ทดลองอยู่กับเด็กอนุบาล เด็กปฐมวัย เพื่อดูความพร้อมก่อนจะมาเป็นครู ทำให้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีขั้นตอนการคัดกรองเบื้องต้นที่ละเอียดกว่าหลักสูตรทั่วไปที่ใช้เพียงการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์เท่านั้น
                    “เด็กโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เมื่อจบการศึกษาต้องบรรจุทำงานเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิด ขั้นแรกจึงเป็นการคัดกรองเชิงคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้เด็กที่ดี มีความมุ่งมั่น ตั้งใจอยากจะเรียนครู รักเด็กและรักพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะใช้การสอบแบบเดิมไม่ได้ อาจารย์ต้องไปสัมภาษณ์เด็ก ผู้นำชุมชน ครู ถึงพื้นที่จริง ขณะที่หลักสูตรนอกจากเรียนการศึกษาทั่วไปและวิชาชีพครู เด็กจะได้รับการศึกษานอกเวลาเพิ่มเติมตามหลักสูตรแนวข้าง เพื่อเสริมจิตวิญญาณความเป็นครู เสริมทักษะชีวิตและวิชาชีพ ด้านงานช่าง งานไม้ งานปูน งานฝีมือ มีอาจารย์คอยให้คำปรึกษาและดูแล เมื่อจบการศึกษาสิ่งที่ติดตัวเด็กไป คือ รู้จักที่จะแก้ปัญหาและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะหน้าที่ของครูในพื้นที่ห่างไกล ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ แต่ครูต้องเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ชุมชน เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงาน ส่วนปกครองต่างๆ ด้วย มหาวิทยาลัยอยากทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบการผลิตครูระบบปิด คือ ผลิตครูได้ตรงความต้องการของโรงเรียน พื้นที่ ท้องถิ่น ซึ่งเด็กจะต้องไปเรียนรู้ที่โรงเรียนและชุมชนทุกปี เพื่อให้เข้าใจเรื่องวิชาชีพครู ผ่านการปฏิบัติมากกว่าเรียนรู้ในห้องเรียน สอดรับกับปรัชญามหาวิทยาลัย ที่มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยแท้จริง
                    ทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ในการผลิตครูโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น 2 ปีซ้อน ในปีการศึกษา 2563และปีการศึกษา 2564 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย