หน่วยพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการร่วมกับพัฒนาการอำเภอจอมบึงและ ประธานกลุ่มไร่สุขพ่วง ร่วมบูรณาการ 3 ภาคีเพื่อจัดทำโครงการเตรียมความพร้อม “Street Food Good Health”
- หมวด: ข่าวกิจกรรมมหาวิทยาลัย
- เผยแพร่เมื่อ: วันพุธ, 27 เมษายน 2565 16:30
- ฮิต: 826
วันที่ 23-24 เมษายน พ.ศ. 2565 หน่วยพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงโดย ผศ.รพีพรรณ กองตูม พัฒนาการอำเภอจอมบึงโดย คุณสาวิตรี ลำดับศรี และ ประธานกลุ่มไร่สุขพ่วง คุณอภิวรรษ สุขพ่วง ร่วมบูรณาการ 3 ภาคีเพื่อจัดทำโครงการเตรียมความพร้อม “Street Food Good Health” โดยในช่วงปีแรกของการดำเนินโครงการ (พ.ศ. 2565) จะเน้นการขับเคลื่อนมิติด้านสุขภาพข้อหนึ่งที่กำหนดเอาไว้ว่าร้านค้าจะต้องไม่ใช้โฟมบรรจุอาหาร (No Foam)
หน่วยพัฒนาท้องถิ่นฯ มีแนวคิดพัฒนา Street Food ในบริเวณหน้าอำเภอจอมบึงให้ยกระดับสู่การเป็น Street Food Good Health ซึ่งโครงการ Street Food Good Health นี้เป็นนโยบายเรือธงของภาครัฐที่กระทรวงสาธารณสุขและสาธารณสุขทุกจังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยโครงการของหน่วยฯจะทำการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าได้ตระหนักในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร อาทิ การงดใช้โฟมบรรจุอาหาร ซึ่งมหาวิทยาลัยฯมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้อยู่แล้ว และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ ไร่สุขพ่วง ก็ได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องการใช้ภาชนะจากพืชร่วมกับพัฒนาชุมชนอำเภอจอมบึงอยู่ด้วยเช่นกัน โดยทางกลุ่มฯ มีเครื่องจักรสำหรับผลิตภาชนะที่ได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาชุมชนมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงเกิดการ Plug in และนำมาซึ่งการจัดทำโครงการ “เตรียมความพร้อม Street Food Good Health ร่วมรณรงค์ให้ใช้ภาชนะย่อยสลายได้”
อาจารย์ ดร. รินรำไพ พุทธิพันธ์ และ อาจารย์ ดร.ครองศักดา ภัคธนกนก ผู้ประสานงานโครงการกล่าวถึงกิจกรรมในวันนี้ว่า ไร่สุขพ่วงและประชาชนในพื้นที่โดยรอบได้มาช่วยกันผลิตภาชนะจากพืชต้นแบบสำหรับบรรจุอาหาร ซึ่งได้นำใบไม้และพืชเหลือใช้ในพื้นที่ เช่น ใบตอง ใบสัก และชานอ้อย มาเป็นวัสดุทดลอง ได้ทำการปรับสูตรและขึ้นรูปเป็นภาชนะ 2 แบบคือ ถ้วยและจาน คณาจารย์ที่เกี่ยวข้องจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเข้ามาควบคุมคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานภาชนะจากพืช เน้นการผลิตที่สะอาดปลอดภัยใช้ได้กับอาหาร ส่วนคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมก็จะเข้ามาพัฒนาแท่นพิมพ์และรูปทรงภาชนะให้มีความหลากหลายขึ้นในลำดับต่อไป ต้นแบบที่ผลิตได้นี้จะนำไปให้ร้านค้า Street Food หน้ามหาวิทยาลัยฯได้ทดลองนำไปใช้ เป็นการนำร่องพื้นที่ no foam ต้นแบบ เตรียมความพร้อมเมื่ออำเภอจอมบึงจะได้เข้าร่วมโครงการ Street Food Good Health ในระดับจังหวัดในอนาคต และเป็นการต่อยอดให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าแก่พื้นที่ โดยทางหน่วยพัฒนาท้องถิ่นฯคาดการณ์ว่า กิจกรรมนี้อาจสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ที่จะยกระดับอาชีพเกษตรกร ให้สามารถ startup เป็นนักธุรกิจเกษตรในอนาคตได้ต่อไป