Accessibility Tools

U2T นครชุมน์ร่วมชุมชนโชว์อัตลักษณ์มอญต้อนรับคณะททท.ภูมิภาคภาคกลาง ผู้ประกอบการสมาคมไทยท่องเที่ยวจัดทริปท่องเที่ยวตักบาตรดอกไม้ออกพรรษาชุมชนมอญวัดใหญ่นครชุมน์เที่ยวเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือรักษ์โลก

          วันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่วัดใหญ่นครชุมน์ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นางสาวจุฑาทิพย์ เจริญลาภ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคกลาง และนางสาวปิยะพัชร์ วงศ์โดยหวัง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดราชบุรีนำทีมสื่อมวลชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจาก สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทยท่องเที่ยวและคณะนำเที่ยววิถีชุมชนมอญนครชุมน์ในกิจกรรมโครงการ Unseen New Series BCG Mini Road Trip เที่ยวสนุก สุขวิถีใกล้กรุง เที่ยวเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือรักษ์โลก โดยนายคมสรร จับจุ รองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลนครชุมน์ และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยว วิถีมอญนครชุมน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สัจจา ไกรศรรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ U2T ตำบลนครชุมน์ ผู้นำชุมชนและคณะร่วมให้การต้อนรับพร้อมนำเสนอกิจกรรม เนื่องในวันออกพรรษา ตักบาตรเทโววิถีมอญ ในการนี้ทางชุมชนท้องถิ่นได้นำสินค้า ผลิตภัณฑ์แปรรูปมาวางจำหน่าย ทั้งการปักผ้าสไบมอญ ลวดลายโบราณสวยงาม เป็นผ้าสไบที่ปักด้วยมือฝีมือประณีต เป็นของดีที่เกิดจากฝีมือชาวบ้าน ในท้องถิ่น และการออกแบบ U2T Nakonchom's BCG tourism model Based on มะตาด พืชอัตลักษณ์ทัองถิ่นชาติพันธุ์มอญและได้ออกแบบ Work shop ในการทำเครื่องสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ตามวิถีของชาวไทยเชื้อสายมอญแบบดั้งเดิมมีชื่อว่า “ ดาง – โหน่ “ หรือ ฉัตร – ธง เป็นเครื่องถวายบูชาพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของมอญ ที่ทำด้วยกระดาษหลากสี ใช้การพับและการตัดให้เป็นรูปฉัตร และธงนิยมทำเพียงขนาดเล็ก ผูกติดปลายไม้ปักบูชา จากคุณลักษณะของดางโหน่ ทำให้เชื่อกันว่า “พวงมะโหด ” เครื่องแขวนของไทยอย่างหนึ่งมีที่มาจากการบูชาพระพุทธเจ้าด้วย โดยได้รับอิทธิพลจาก “โหน่ ” ของมอญมาแต่โบราณ ทำจากกระดาษสีต่าง ๆ พับและตัดซ้อนกันหลายสี มีขนาดใหญ่และทำเป็นเครื่องแขวนใช้แขวนตกแต่งอาคารสถานที่ ในงานมงคลต่างๆ รวมถึงกิจกรรมตามแบบวิถีชาวมอญ การนำอาหารพื้นบ้าน ขนม มาจัดต้อนรับนักท่องเที่ยวจัดเป็นชุดใส่ปิ่นโตนั่งรับประทานบนแคร่ไม้ไผ่เพื่อเป็นการรักษ์โลกรักสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางพวงมะโหดหลากสีที่ห้อยระย้าบนต้นไม้ใหญ่ หลังจากนั้นทางคณะได้ไปสักการะวิหารปากี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของวัดใหญ่นครชุมน์ พระวิหารหลวงพ่อพญาแลภาษาพื้นเมืองเรียกว่าปากี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของวัด 2 องค์ ปางพระพุทธไสยาสน์ กับปางประทานพรศิลปะการสร้าง เป็นแบบช่างฝีมือชาวมอญ สวยงามและแปลกตาไปอีกแบบ พระพุทธไสยาสน์ นับว่าแปลกกว่าที่เคยพบจากที่อื่น เพราะนอนตะแคงซ้ายสร้างด้วยปูนปั้น ส่วนพระพุทธรูปปางประทานพร เป็นพระประธานของวิหารสร้างด้วยโลหะผสมสีดำสนิท มีพระนามว่าหลวงพ่อพญาแล ภายหลังมีผู้บูรณะลงรักเคลือบทองเสียใหม่
          ในการนี้เนื่องในวันออกพรรษา ตามปกติทุกปีจะมีการตักบาตรพระร้อย และตักบาตรข้าวต้มลูกโยนเป็นการรวมคนที่เยอะมาก แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการตักบาตรดอกไม้ตอนที่พระเข้าโบสถ์ ซึ่งพระสงฆ์จะเดินบนผ้าขาวที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมไว้ชาวบ้านและ กลุ่มทริปท่องเที่ยวได้ร่วมกันนำดอกไม้ ธูปเทียนถวายกับพระสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันออกพรรษาครั้งนี้

  ที่มา : งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร