Accessibility Tools

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีจัดเสวนาพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ปฐมวัยและประถมศึกษา สำหรับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อผลักดันไปสู่หลักสูตรผลิตครูใน 2 ระดับ

           วันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมสุพจน์ มิเถาวัลย์ ชั้น 2 อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงกล่าวต้อนรับนายนคร ตังคะพิภพ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและคณะในการประชุมสัมมนาเพื่อพัฒนาแนวทางการเสริมความรู้และทักษะการจัดการเรียนรู้ปฐมวัยและประถมศึกษา สำหรับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ครั้งที่ 1 โดยอาจารย์ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์พร้อมคณะผู้บริหาร อาจารย์ที่รับผิดชอบโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง นายธิติพงศ์ สุกใส รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีและคณะร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้กล่าวถึงเป้าหมายของการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมเสริมศักยภาพเพื่อพัฒนานักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเพื่อให้เป็นไปตามคุณลักษณะสำคัญของครูเพื่อชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาความรู้และทักษะการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ในหลักสูตรปฐมวัยให้สามารถจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาได้ กรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงและมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดสู่การพัฒนาหลักสูตรผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นของ 2 สถาบันผลิตให้เป็นครู 2 ระดับ ปฐมวัยกับประถมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพพร้อมมีการสรุปแนวทางการทำงานของ 2 สถาบันเพื่อผลักดันไปสู่หลักสูตรผลิตครูใน 2 ระดับ
           สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเป็น 1 ใน 7 สถาบันการศึกษาที่ทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้พิจารณาคัดเลือกเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ในสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว และในปีการศึกษา 2565มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงมีพื้นที่เป้าหมายโครงการรับผิดชอบในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะมีการคัดเลือกนักเรียนในโรงเรียนเป้าหมายรวมทั้งหมด 30 อัตราและนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร เมื่อจบการศึกษาก็จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูเพื่อกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

  ที่มา : งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร